ชื่อเรื่อง        การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ( PLC ) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้น                       ผู้เรียนเป็นสำคัญของครูโรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคาม

ผู้วิจัย         นางกาญจนา   วิเศษรินทอง

หน่วยงาน  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม

ปีที่พิมพ์       2564

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)  เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการนิเทศการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูโรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคาม  2)  เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC ) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูโรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคาม  3) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC ) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูโรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคาม วิธีการดำเนินการวิจัย  จำแนกเป็น  3  ขั้นตอน ได้แก่  ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน โดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้กรอบแนวคิดในการพัฒนา และศึกษาศึกษาสภาพปัจจุบัน และความต้องการนิเทศการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครู  ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในโดยการยกร่างรูปแบบแล้วให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเหมาะสม   ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC ) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูโรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคาม โดยการนำรูปแบบไปทดลองกับโรงเรียนที่เป็นหน่วยศึกษา จำนวน  2  โรงเรียน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action Research) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม   แบบทดสอบ  แบบสังเกต

แบบประเมิน แบบบันทึกการประชุม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ความถี่  ร้อยละ การทดสอบค่าที ( t-test)  แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการวิจัย พบว่า

  1. สภาพปัจจุบันและความต้องการนิเทศการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครู โรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคามข้อมูลพื้นฐาน พบว่า

สภาพปัจจุบันการนิเทศการจัดการเรียนรู้ของครู พบว่า โรงเรียนส่วนมากยังมีปัญหาด้านการวางแผนปฏิบัติงานนิเทศ  ด้านการปฏิบัติการนิเทศ  ด้านการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการนิเทศ  ด้านการสะท้อนผลสิ่งที่ได้ปฏิบัติ และด้านการยกย่อง เชิดชูเกียรติ

ความต้องการนิเทศด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่า ด้านการวางแผนปฏิบัติงานนิเทศ ควรมีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนัก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้บริหารกับครู  ด้านการปฏิบัติการนิเทศ ควรให้มีการเยี่ยมชั้นเรียนเพื่อพบปะและสังเกตการสอนในชั้นเรียนของครูเป็นรายบุคคล ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ ครูในชั้นเรียนเป็นรายบุคคล ด้านการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการนิเทศควรให้มีการติดตามเป็นระยะๆ ให้มีการปฏิบัติตามแผนนิเทศอย่างจริงจัง  ด้านการสะท้อนผลสิ่งที่ได้ปฏิบัติ ควรมีการประชุมสะท้อนผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและครูหลังจากเสร็จสิ้นการนิเทศ และด้านการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ผู้บริหารควรให้ขวัญ กำลังใจแก่ครูผู้สอน อย่างทั่วถึง มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานครูทางอินเตอร์เน็ตและทางเอกสาร

  1. รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC ) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครู โรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย 7 กระบวนการหลัก  17  กระบวนการย่อย  ได้แก่  1) การเตรียมองค์กรเพื่อการเรียนรู้ จำนวน 3 กระบวนการย่อย  2) การวางแผนด้วยความร่วมมือ  จำนวน 3  กระบวนการย่อย  3) การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานร่วมกัน  จำนวน 2 กระบวนการย่อย  4) การนำสู่การปฏิบัติจริงในชั้นเรียน  จำนวน 2 กระบวนการย่อย 5) การนิเทศ ติดตามและประเมินผล จำนวน 3 กระบวนการย่อย 6) การสะท้อนผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 2 กระบวนการย่อย  7) การยกย่อง เชิดชูเกียรติ  จำนวน  2  กระบวนการย่อย
  1. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูโรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคาม พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาละครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC ) ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการนิเทศ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยภาพรวมอยู่ในระดับสูง  ครูมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC ) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูโรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคาม อยู่ในระดับมาก  และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ของครู อยู่ในระดับมาก เช่นกัน